วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Ma Vie En Rose โลกของผมสีชมพู





 1.สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการดูภาพยนต์
     ภาพยนต์เรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นภาพยนต์เรื่องหนึ่งที่มีค่าและให้ความรู้แก่ผู้ชมในประเด็นเรื่องของครอบครัว สังคม ปฎิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว  ระหว่างสังคม ได้อย่างมากมาย ซึ่งสำหรับข้าพเจ้าแล้วสิ่งที่ได้เรียนรู้จากภาพยนต์เรื่องนี้คือ
  - ได้เรียนรู้ว่าไม่มีรากฐานใดจะสำคัญและมีค่ามากกว่าสถาบันครอบครัว ซึ่งถ้าสถาบันครอบครัวแข็งแกร่งและหนักแน่นพอ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในสังคมก็จะลดน้อยลงหรืออาจจะหมดไป
  - ได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในครอบครัว คือ ความรัก ความเข้าใจ และการยอมรับ ซึ่งหากครอบครัวขาดสิ่งเหล่านี้ไปความเป็นครอบครัว ความอบอุ่น ก็จะหมดไป และสิ่งที่จะตามมาก็คือปัญหาครอบครัวที่นำไปสู่ปัญหาสังคม
  - ได้เรียนรู้ว่า หากสังคมขาดการยอมรับในความแตกต่างของกันและกันแล้ว ความแตกแยก ความขัดแย้งก็จะเป็นตัวทำลายความเป็นสังคมนั้นไป
  - ได้เรียนรู้ว่า การเอาใจเขามาใส่ใจเรา เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนในสังคมเดียวกันเข้าใจกันอย่างแท้จริงและจะไม่ละเมิดสิทธิ์ของกันและกัน ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดปัญหาในสังคมนั้นๆ
  - และสุดท้ายข้าพเจ้าได้เรียนรู้ว่า ความรัก ความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก เป็นเรื่องที่สมาชิกต้องใช้ใจคุยกันมากกว่าที่จะใช้สมองคุย

2. ทฤษฎีสังคม
  จากการดูภาพยนต์เรื่องนี้ จะเห็นได้ว่ามีทฤษฎีสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งผู้ชมแต่ละคนย่อมที่จะมีมุมมองในประเด็นทฤษฎีสังคมแตกต่างกัน โดยสำหรับข้าพเจ้านั้น เห็นว่า ทฤษฎีที่เห็นได้ชัดเจนจากเรื่องราวของภาพยนต์เรื่องนี้ นั้นก็คือ ประกอบด้วย สอง ทฤษฎีด้วยกัน
  - ทฤษฎีพฤติกรรมเบี่ยงเบน ซึ่งหมายภึง พฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานของสังคมนั้นๆ โดยที่คนส่วนใหญ่ในสังคมนั้นๆเห็นว่าผิด หรือแตกต่่างไปจากคนส่วนใหญ่ในสังคม
    โดย ในเรื่องนี้นั้นจะเห็นได้ว่า ลุคโดวิค ซึ่งมีพฤติกรรมแตกต่างไปจากเด็กทั่วไปในสังคมที่เขาอยู่ กล่าวคือ ลุคโดวิค ซึ่งเป็นเด็กผู้ชายแต่เขามีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปทางผู้หญิง ซึ่งเป็นการเบี่ยงเบนในด้าน การกระทำเบี่ยงเบนคือ การมีร่างกายเป็นชายแต่มีจิตใจเป็นหญิงและพยายยามตอบสนองความต้องการทางจิตใจ นั้นคือ การพยายามทำตัวเองให้เป็นผู้หญิงร่วมทั้งการชอบพอเพศเดียวกันด้วย โดยที่พฤติกรรมเบี่ยงเบนดังกล่าว เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในสังคมที่ ลุคโดวิคอยู่ มองว่าเป็นเรื่องที่ผิด และแตกต่างไปจากบรรทัดฐานของสังคม  ทำให้ พฤติกรรมของ ลุคโดวิคจึงถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนในสังคมนั้น แต่ถ้า ลุคโดวิคอยู่ในสังคมที่คนส่วนใหญ่มองว่า พฤติกรรมของลุคโดวิคเป็นพฤติกรรมปกติทั่วไป ลุคโดวิคก็จะไม่ถูกมองว่าต่างไปจากสังคมนั้น เหมือนดังในเรื่องที่ หมู่บ้านใหม่ที่ ลุคโดวิค ไปอยู่นั่น คนส่วนใหญ่ในสังคมนั้น ยอมรับพฤติกรรมที่แตกต่างของลุคโดวิค พฤติกรรมของลุคโดวิคก็จะกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมนั้น ซึ่งในเรื่องพฤติกรรมเบี่ยงเบนที่เกิดขึ้นกับ ลุคโดวิค นั้นอาจเกิดจาก ส่วนของ ชีววิทยา จิตวิทยา หรือ สังคมวิทยาก็ได้ นั้นก็คืออาจเป็นเรื่องของพันธุกรรม เรื่องของจิตใต้สำนึก หรือเรื่องของสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู ซึ่งย่อมเป็นองค์ประกอบที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนของ
ลุคโดวิคได้ทั้งสิ้น ซึ่งในทางทฤษฎีสังคมถือว่า ลุคโดวิคมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน แต่เป็นพฤติกรรมที่ไม่ได้ก่อปัญหาร้ายแรงให้กับสังคม เพียงแต่อาจก่อให้เกิด ความขัดแย้ง ในด้านของการยอมรับของคนส่วนใหญ่ในสังคม เหมือนดังเพื่อนบ้านในเรื่องในหมู่บ้านแรกที่ลุคโดวิคอยู่ ซึ่งไม่ยอมรับ พฤติกรรมเบี่ยงเบนของลุคโดวิคทำให้เกิดการ รังเกียจ กีดกันการเข้าสังคม จนกระทั้งเกิดการบอยคอตต่อครอบครัวของลุคโดวิค
  - ทฤษฎีตีตรา ซึ่งเป็นการตอบโต้ของสังคมต่อผู้กระทำผิดหรือผู้ที่ผิดแผกไปจากบรรทัดฐานของสังคม โดย เป็นการตอบโต้ที่แสดงออกมาในทางด้านลบ เช่น การรังเกียจ การไม่สมาคมด้วย การไม่ให้โอกาสแก้ตัว การไม่ให้อภัย  ซึ่งจะแสดงต่อผู้กระทำผิดแม้เขาจะได้รับโทษแล้วก็ตรา หรือเรียกสั้นๆว่าเป็นการตีตรา นั้นเอง
    โดย ในเรื่องนี้ เพื่อนบ้านในหมู่บ้านแรกของ ลุคโดวิคส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ พฤติกรรมเบี่ยงเบนของ
ลุคโดวิค ซึ่ง เพื่อนบ้านเห็นว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และเป็นเรื่องที่ผิด ที่ไม่ควรมีอยู่ในสังคม จึงแสดงพฤติกรรมการไม่ยอมรับออกมา แม้ครอบครัวของลุคโดวิคจะพยายามแก้ไขแล้วก็ตามเช่นพาลุคโดวิคไปหาจิตแพทย์ สั่งสอนบอกเหตุผลแก่ลุคโดวิค และลุคโดวิคเองก็พยายามจะฝืนตัวเองเพื่อจะเข้าสังคมแล้วก็ตาม แต่ความกังวลความไม่เชื่อใจ การไม่ให้โอกาสไม่ยอมรับของเหล่าเพื่อนบ้าน จึงแสดงออกมาในด้าน ของการตีตรา ซึ่งก่อให้เกิดเหตุการณ์อื่นๆตามมา โดยที่ในเรื่องคือ เมื่อ ลุคโดวิคโดยตีตรา ครอบครัวของลุคโดวิคก็ไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนบ้าน มีผลต่อหน้าที่การงานของครอบครัว รวมถึงการมีเพื่อนของลุคโดวิค และที่สำคัญมีผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวซึ่งเป็นปัญหาที่จะเกิดความแตกแยกขัดแย้งในสังคม เช่น ฉากหนึ่งในเรื่องที่ แม่ของลุคโดวิค ทำการแก้แค้นโดยทำให้เพื่อนบ้านมีปัญหากัน คือไปทำให้เกิดความขัดแย้งในครอบครัวของเซโรม ทำให้พ่อแม่ของเซโรมเข้าใจผิดกัน ซึ่งนี่เป็นเพียงปัญหาเล็กน้อยซึ่งในบางสังคมอาจแสดงออกมาในด้านที่จะก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงในสังคมก็ได้ เมื่อสังคมตีตรา ผู้ที่ถูกตีตราก็ย่อมที่จะอยู่ในสังคมนั้นลำบาก เหมือนในเรื่องที่สุดท้าย ครอบครัวของลุคโดวิคต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น แต่ก็โชคดีของลุคโดวิคที่สังคมใหม่ยอมรับความแตกต่างของลุคโดวิค แต่จะเห็นได้ฉากหนึ่งที่แม้แต่แม่ของลุคโดวิคเองซึ่งไม่เชื่อใจในลูกก็ย่อมเกิดการตีตราได้ เช่นในตอนที่ลุคโดวิคโดนบังคับแลกเสื้อกับคริสติน ทั้งๆที่ลุคโดวิคโดนคริสตินบังคับแต่ด้วยความที่ลุคโดวิคเคยทำแบบนี้มาก่อนแม่จึงคิดว่าลุคโดวิคทำอีก ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการตีตราแบบหนึ่งด้วยเช่นกัน ซึ่งการตีตราไม่ใช่ทางออกที่ดีของปัญหา การให้โอกาส การยอมรับในความแตกต่าง วิธีเหล่านี้ต่างหากที่จะแก้ไขปัญหาสังคมและปัญหาครอบครัวได้ ซึ่งเห็นได้ว่าเมื่อแม่ของลุคโดวิคยอมรับได้ ความสุขของครอบครัว        ลุคโดวิค ก็จะเพิ่มมากขึ้น สังคมก็จะไม่มีความขัดแย้งมีแต่ความเข้าใจกัน


 3.หากเป็นพ่อแม่
     ถ้าข้าพเจ้าเป็นพ่อแม่ที่มีลูกที่เป็นเหมือนลุคโดวิค ซึ่งเป็นเรื่องในชีวิต ข้าพเจ้าก็ตอบได้เต็มคำเลยว่า ข้าพเจ้าก็จะหาทางทุกวิธีทางที่จะทำให้ลูกของข้าพเจ้ากลับมาเป็นเหมือนคนปกติแต่ข้าพเจ้าจะไม่ใช้วิธีการที่ทำร้ายร่างกายและจิตใจลูกของข้าพเจ้า แต่จะใช้ทางเลือกอื่นเช่น จิตวิทยา การใช้เหตุผล การใช้สติสมาธิหรือวิธีการการเข้าใจความเป็นไปของชีวิตทางพุทธศาสนา โดยที่จะไม่ใช้ความชอบส่วนตัวหรือความอยากที่จะให้ลูกเป็นไปตามที่ใจเราอยากให้เป็นแต่จะใช้ทางที่เป็นขั้นตอนการรักษาจริงๆ เมือนฉากหนึ่งในเรื่องที่แม่พาลุคโดวิคไปหาจิตแพทย์ตอนที่ลุคโดวิคจะเลือกของเล่นซึ่งใจเขาอยากเลือกตุ๊กตาแต่แม่เมื่อได้ยินว่าแม่อยากให้ลูกชายเป็นลูกชายจริงๆ ลุคโดวิคก็ต้องฝืนใจเลือกเล่นรถเพื่อไม่ให้แม่เสียใจ ทำให้การรักษาไม่เป็นผล และถ้าข้าพเจ้าไม่มีทางเลือกแล้วจริงๆนั้นคือไม่สามารถเปลี่ยนลูกได้แล้ว ข้าพเจ้าก็จะทำใจยอมรับความจริง และเริ่มทำการเข้าใจในสิ่งที่เขาเป็น ยอมรับสิ่งที่เขาเป็นอย่างจริงใจ เพื่อที่จะให้เขาดำเนินชีวิตในสังคมแห่งความเป็นจริงซึ่งในปัจจุบันแม้จะมีเพศที่สามเยอะขึ้น แต่คำว่าเพศที่สามก็ยังเป็นความต่างของสัมคม ข้าพเจ้าก็จะเลี้ยงดูเอาใจใส่ให้เขาอยู่ในสังคมที่กล่าวไปข้างต้น ให้ได้โดยไม่เป็นปัญหาของสังคมและให้เขานำความต่างที่เขาเป็นไปทำสิ่งดีดีให้สังคมเพื่อให้ความดีของเขานั้นทำให้สายตาของคนส่วนใหญ่ในสังคมที่เขาอยู่ยอมรับความต่างของเขาได้


 4.หากเป็นพี่น้อง
   ถ้าข้าพเจ้ามีพี่หรือน้องเป็นอย่างลุคโดวิค ตอนแรกข้าพเจ้าก็คงทำใจยอมรับไม่ได้ ข้าพเจ้าคงจะไม่เข้าใจในสิ่งที่เขาเป็นและคงพยายามหาเหตุผลพูดคุยให้เขาเข้าใจและชักชวนให้เขากลับไปเป็นปกติ แต่ถ้าเขาเปลี่ยนไม่ได้และเป็นสิ่งที่เขาเลือกแล้ว ข้าพเจ้าก็จะหาวิธีเพื่อที่ข้าพเจ้าจะได้เข้าใจในสิ่งที่เขาเป็นและข้าพเจ้าก็จะปรับเปลี่ยนมุมมองของข้าพเจ้าเพื่อที่จะเป็นที่ปรึกษา และเข้าใจเขาได้ เพื่อให้เขารู้ว่าพี่น้องยังอยู่ข้างเขาและเข้าใจเขา

  
5.หากเป็นเพื่อน
   ถ้าข้าพเจ้ามีเพื่อนที่เป็นอย่างลุคโดวิค ข้าพเจ้าก็จะพยายามเข้าใจในสิ่งที่เขาเป็น และก็เป็นเพื่อนกับเขาได้ ไม่ล้อเลียนไม่ดูถูกเขา เพราะข้าพเจ้าจะคิดว่าถ้าข้าพเจ้าเป็นเขาก็คงจะต้องการเพื่อนที่เข้าใจและยอมรับข้าพเจ้า ดังนั้นข้าพเจ้าก็จะยอมรับและเข้าใจเขาพร้อมทั้งอยู่เป็นที่ปรึกษาให้กับเขาพร้อมทั้งแนะนำเขาหากเขาทำสิ่งใดผิดไปเพื่อไม่ให้เขาโดนตีตราจากสังคม และจะสนับสนุนสิ่งดีดีที่เขาทำ เท่าทีเพื่อนคนหนึ่งจะมีความสามารถทำได้

6.หากเป็นเพื่อนบ้าน
   สำหรับข้าพเจ้าแล้วคิดว่าการเป็นเพื่อนบ้านเป็นคำที่บ่งบอกถึงความไว้ใจเชื่อใจและสามารถพึ่งพากันได้อย่างจริงใจ ซึ่งถ้าข้าพเจ้าเป็นเพื่อนบ้านของครอบครัวลุคโดวิค ข้าพเจ้าจะต้องพยายามยอมรับสิ่งที่
ลุคโดวิคเป็น ไม่สร้างความกดดันให้กับครอบครัวลุคโดวิค และจะช่วยกันดูแลลุคโดวิคให้มากขึ้นเพื่อให้ความต่างของเขาเป็นจุดบางที่สุดในสายตาของเพื่อนบ้านคนอื่น เพราะข้าพเจ้าคิดว่าการเอาใจเขามาใส่ใจเราเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคม เพราะถ้าเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นกับครอบครัวของเราเราก็คงมีความต้องการไม่แตกต่างจากครอบครัวลุคโดวิคนั้นก็คือ ต้องการการยอมรับและเข้าใจของเพื่อนบ้าน ดังนั้นถ้าหากข้าพเจ้าเป็นเพื่อนบ้านก็จะพยายามทำความเข้าใจในความต่างของเขา ไม่กดดัน ยอมรับ และช่วยดูแลเป็นที่ปรึกษาเป็นกำลังใจให้กับครอบครัวลุคโดวิค หากเขาต้องการ

7.หากเป็นตนเอง
   ถ้าข้าพเจ้าเป็นแบบลุคโดวิค สิ่งแรกคือข้าพเจ้าคงจะสงสัยในพฤติกรรมของตนเอง และคงจะตามหาคำตอบเหมือนที่ลุคโดวิคทำ และคงจะแคร์ความรู้สึกของครอบครัวเหมือนที่ลุคโดวิคเป็น แต่คงจะไม่กล้าเปิดเผยอย่างชัดเจนเหมือนกับลุค ข้าพเจ้าคงจะเลือกที่จะปรึกษาพ่อแม่เพื่อตอบคำถามตัวเอง และเมื่อโตขึ้นถ้าข้าพเจ้ารู้แล้วว่าข้าพเจ้าต้องการอะไร ข้าพเจ้าจะบอกความต้องการนั้นกับครอบครัวของข้าพเจ้าถ้าพวกเขารับได้ข้าพเจ้าคงจะดีใจมาก แต่ถ้าพวกเขารับไม่ได้ข้าพเจ้าก็จะทำใจยอมรับและหวังว่าเวลาคงทำให้อะไๆดีขึ้น และที่สำคัญข้าพเจ้าจะไม่ทำให้ความต่างของข้าพเจ้าไปทำร้ายจิตใจและทำลายความสุขของครอบครัวของข้าพเจ้ารวมถึงพยายามทำให้ความต่างของข้าพเจ้าก่อเกิดสิ่งดีดีในสังคมเพื่อว่าให้สังคมได้รู้ว่าความต่างที่ข้าพเจ้าเป็นไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยต่อสังคมที่ข้าพเจ้าอยู่

8.ข้อคิด
  - แค่ความรัก ความเหมาะสมไม่เพียงพอต่อคำว่า ครอบครัว ความรัก ความเข้าใจ การให้อภัย การยอมรับ และการให้โอกาส ต่างหากที่จะสร้างคำว่าครอบครัวได้ ดังนั้นจะเห้นได้ว่าครอบครัวเป็นสถาบันที่ละเอียดอ่อน จึงจำต้องคิดไตร่ตรองให้รอบคอบโดยใช้ทั้งสมองและจิตใจ ในการที่จะทำให้เกิดคำว่าครอบครัว
  - การเอาใจเขามาใส่ใจเราถือเป็นกุญแจสำคัญในการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม
  - บางครั้งเราอาจต้องเสียสละความต้องการ ความชอบความสนใจ หรือความสุขของเราบ้างเพื่อที่จะแบ่งเบาความสุขให้แก่คนที่ด้อยกว่าเราบ้างเพื่อความสงบของสังคม
  - ไม่มีความรักใด ความเข้าใจใด ความอบอุ่นใด ที่จะเหนียวแน่นกว่า ความรัก ความเข้าใจ ความอบอุ่นของครอบครัว
  - การยอมรับจะเกิดขึ้นในสังคม หากคนในสังคมรู้จักการเปิดใจให้คนอื่นและรู้จักการให้โอกาสผู้อื่นได้แก้ตัวเมื่อเขาผิดพลาดไป


9.คำถาม
  - อะไรคือกุญแจสำคัญที่จะทำให้สังคมที่มีผู้คนแตกต่างกันทั้งด้านความคิดและการกระทำ สามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีปัญหา
  - เมื่อเกิดปัญหาเช่นในภาพยนต์กับครอบครัวของท่าน ท่านจะใช้วิธีใดในการแก้ไขปัญหาครอบครัวของท่าน(จงแสดงความคิดเห็น)
  - ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรต่อ เพศที่สาม ในสังคมไทยในปัจจุับันนี้

                                     51041040 นางสาว ดารณี เรืองจันทร์ 
                               สาขาการสอนสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม 
                                             คณะศึกษาศาสตร์ ชั้นปีที่ 4

วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ปัญหาสังคมที่ฉันสัมผัส ตอน สัตว์เร่ร่อนในมหาวิทยาลัยบูรพา

      ถ้าถามถึงปัญหาสังคมที่ข้าพเจ้าได้สัมผัสในชีวิตนี่้นั้นคงนับไม่ถ้วนเพราะคนเราเกิดมาย่อมต้องเจอกับปัญหาไม่ว่าจะเป็นปัญหาระดับปัจเจกหรือระดับกลุ่มสังคม ดังคำที่ กล่าวกันโดยทั่วไปว่า ถ้าหากเราไม่พบเจอปัญหาเราก็จะไม่มีภูมิต้านทานในการใช้ชีวิต โดย ขณะนี้ ข้าพเจ้ากำลังใช้ชีวิต ในช่วงของ นักศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าต้องพบเจอกับปัญหาหลากหลายปัญหาด้วยกัน  ซึ่งชีวิตในรั้วม.บูรพาของข้าพเจ้านั้น มีปัญหาหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้สัมผัส พบเจอตั้งแต่วันแรกของการเข้ามาเรียนจนถึงวันนี้ที่ข้าพเจ้าอยู่ปีสี่แล้ว ซึ่งเป็นที่มาของเนื้อหา ในบล็อกนี้คะ
         ปัญหาที่ว่านั้น ก็คือ "ปัญหาสัตว์เร่ร่อนในมหาวิทยาลัยบูรพา" ปัญหานี้อาจเป็นปัญหาเล็กน้อยของสังคมในสายตาใครบ้างคนแต่สำหรับข้าพเจ้านั้นเห็นว่าปัญหานี้ก็เป็นปัญหาที่สังคมควรหันเหลียวแล เพราะทุกคนคงเคยได้ยิน คำที่พูดกันว่า"ทุกชีวิตบนโลกนี้ล้วนแต่มีค่าและสำคัญทั้งสิ้น" ดังนั้นสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะช้าง ม้า วัว ควาย หมา แมว ฯลฯ ก็ล้วนมีค่ามีความสำคัญเช่นกัน แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงปัจจุบันนี้ สิ่งมีชีวิตที่ถูกให้ความสำคัญมากที่สุดนั้นคือ มนุษย์ หรือสิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญารู้จัก ชั่ว ดี  โดยบ้างครั้งสิ่งที่มีชีวิตอื่นๆอาจถูกเห็นว่าด้อยค่ากว่าและอาจถูกละเลย
       ในที่นี้ข้าพเจ้าจะกล่าวในส่วนของ สัตว์ที่มีชื่อเรียกว่า  หมาและแมว ซึ่งมีมากในสังคมและในมหาวิทยาลัยบูรพา มีทั้งที่ มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ บางรายอาจได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีแต่บางรายก็อาจไม่มีผู้ใดเหลียวแลต้องดำเนินชีวิตไปตามสัญชาติญาณของสัตว์เร่ร่อนที่หลายคนคิดว่าไม่เป็นปัญหายิ่งใหญ่อะไรในสังคม ม.บูรพาแห่งนี้ แต่ถ้าเราลองเอาใจเขามาใส่ใจเราในฐานะที่เราก็เป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกับพวกเค้า ต่างกันแค่ที่เราเป็นคนแต่พวกเค้าเป็นสัตว์ ปัจจัยสี่ที่เราต้องการสัตว์เหล่านั้นก็ต้องการเหมือนกัน ดังนั้นในเมื่อสัตว์ต้องการเอาชีวิตรอดในสถานที่ที่มนุษย์ควบคุม และเงินเป็นตัวสำคัญ สัตว์เลยจำต้องพึ่งพาพึ่งพิงมนุษย์เพื่อความอยู่รอดของตนเอง ปัญหา "สัตว์เร่ร่อน"  ที่นับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้น แค่ใน ม.บูรพาที่เดียวก็มีจำนวนมากกว่า 20 ตัว ทั้งแมวและหมาปะปนกัน
หน้าตึกมนุษย์ศาสตร์
คอยอาหาร








   


           เมื่อแมวและหมาไม่มีเจ้าของ ก็จำต้องหากินด้วยตนเอง ซึ่งนั้นก็คือ เศษอาหารตามร้านอาหาร ถังขยะ อาหารที่หล่นทิ้ง หรือ นั่งคอยตามโต๊ะอาหารที่นักศึกษานั่งรับประทานอยู่ ถ้าโชคดีบางวันก็มีคนใจดีนำอาหารมาแจกก็จะรอดตายไปหนึ่งวัน สำหรับข้าพเจ้าเห็นว่านับวันปัญหาสัตว์เร่ร่อนยิ่งเป็นปัญหาโลกแตกเข้าทุกวันเพราะไม่มีทางแก้ไขที่สิ้นสุดสักที แม้แต่ ในม.บูรพาที่เดียวก็ยังแก้ไม่ได้แถมยังเพิ่มขึ้นทุกวันถ้าเรามองต้นเหตุของปัญหานี้ดีดีจะเห็นว่า มนุษย์เองก็มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดปัญหาสัตว์เร่ร่อนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ข้าพเจ้าเคยซักถามบุคคลหลายกลุ่มด้วยกันใน ม.บูรพาว่า ทำไม่จึงมา หมาแมวเร่ร่อนเยอะมาก คำตอบที่ได้มานั้นสรุปได้ว่าเป็นสาเหตุของปัญหาสัตว์เร่ร่อน ได้ดังนี้คือ
       1. เจ้าของที่มีนักศึกษา  บุคลากรในมหาวิทยาลัย  ชาวบ้านข้างเคียงมหาวิทยาลัย  หรือแม้แต่บุคคลภายนอก ที่นำหมาแมวที่ตนเลี้ยงมาทิ้งไว้ในมหาวิทยาลัยเพราะไม่อยากเลี้ยงแล้วหรือรู้สึกว่าหมาแมวที่เลี้ยงพอโตขึ้นเริ่มเป็นภาระมากขึ้นก็เลยปล่อยทิ้งไว้เป็นหมาแมวเร่ร่อนในมหาวิทยาลัย
       2.นักศึกษาที่ชอบเลี้ยงหมาแมวที่ตอนเล็กๆน่ารักพอมันโตขึ้นก็เริ่มไม่น่ารักจึงตัดสินใจทิ้งมันไว้ในมหาวิทยาลัยให้เป็นหมาแมวเร่ร่อน
       3.ผู้เช่าที่พักทั้งในมหาวิทยาลัยและข้างเคียงเมื่อย้ายที่อยู่ใหม่ก็ทิ้งหมาแมวที่เลี้ยงไว้ไม่พาไปที่อยู่ใหม่ด้วยหมาแมวเหล่านั้นจึงกลายเป็นหมาแมวเร่ร่อน
       4.ชาวบ้านข้างเคียงและข้างนอกมหาวิทยาลัยนำ หมาแมวที่เลี้ยงไว้มาทิ้ง เนื่องจากรับภาระไม่ไหวหรือไม่มีเวลาดูแลเมื่อภาระทางบ้านเพิ่มขึ้น หรือฐานะตกต่ำลง หมาแมวจำต้องเป็นภาระที่ต้องตัดทิ้งไปจึงมีหมาแมวเร่ร่อนในมหาลัยเพิ่มขึ้น
       5.เมื่อหมาแมวเร่ร่อนเหล่านั้น ต้องใช้ชีวิตตามสัญชาติญาณของสัตว์ การสืบพันธ์ก็ย่อมเกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มประชากรหมาแมวเร่รอนในมหาวิทยาลัยได้อย่างรวดเร็ว เพราะจากพ่อพันธ์แม่พันธ์ที่เร่ร่อนอยู่แล้วเมื่อเกิดลูกมาก็ย่อมเร่ร่อนเช่นกัน
       จากที่กล่าวมาข้างต้นจึงเห็นได้ว่า นักศึกษาพวกเราเองบางครั้งก็เป็นส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาสัตว์เร่ร่อนขึ้นเช่นกันดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่เราควรเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาที่เราสัมผัสอยู่ทุกวันนี้ตามกำลังและวิธีการที่เราพอจะทำได้เพื่อให้ปัญหาที่เราสัมผัสอยู่นี้ได้บรรเทาลง
       ซึ่งข้าพเจ้าได้สัมผัสกับปัญหาสัตว์เร่ร่อนในมหาวิทยาบูรพาแห่งนี้มาด้วยตัวเอง นั่นคือตอน ปี4 เทอม 1หรือเทอมที่ผ่านมา ที่หอพักของข้าพเจ้าในมหาวิทยาลัยบูรพาแห่งนี้มีแมวเร่ร่อนอยู่หลายตัวมีทั้งตัวผู้และตัวเมีย โดยที่หน้าห้องของข้าพเจ้าจะมีตะกร้าไว้ใส่รองเท้าโดยจะมีผ้าที่ไว้เช็ดรองเท้าปิดอยู่ด้านบน ตอนเช้าของช่วงต้นเทอม วันหนึ่งข้าพเจ้าได้ยินเสียงร้องของเมวอยู่แถวหน้าห้องจึงไปหาดูปรากฏว่ามีลูกแมวเพิ่งคลอดได้สัก4-5 วัน เพราะตัวมันเล็กมาก มาอยู่ในตะกร้ารองเท้าของฉัน 4 ตัวด้วยกัน ข้าพเจ้าตกใจมากรีบไปบอกเพื่อนห้องข้างบนให้ลงมาดูเพราะ เจ้าของหอไม่ให้นำสัตว์ขึ้นหอหากเจ้าของหอรู้เข้าเค้าต้องพาพวกมันไปทิ้งแน่ๆ ข้าพเจ้ากับเพื่อนคาดกันว่าแม่แมวต้องคาบมาซ่อนไว้เพราะเมื่อคืนฝนตกหนัก ก็เลยพาลูกมาซ่อนไว้เพื่อไม่ให้เปียก ข้าพเจ้ากับเพื่อนรอดูว่าแม่แมวจะมาหาลูกมั้ย ประมาณซักครึ่งชั่วโมงมันก็มาให้ลูกกินนม ข้าพเจ้าเลยตัดสินใจเอาแผ่นไม้บังแม่แมวกับลูกแมวไว้ไม่ให้เจ้าของหอเห็น โดยข้าพเจ้าได้ซื้อปลาทูมาให้แม่แมวกิน ได้ซักประมาณ 3 วัน พวกมันก็พากันหายไป            เพื่อนข้าพเจ้าบอกว่าแม่แมวคงพาไปที่อื่น ข้าพเจ้าก็ไม่ได้สงสัยอะไร จน 2 วันต่อมา ข้าพเจ้าเดินลงไปบันไดข้างล่างได้กลิ่นเหม็นแปลกๆ จึงตามกลิ่นไปและฉันก็ได้เห็นลูกแมวที่หายไปนั้นนอนตายอยู่ 2 ตัว สภาพอืดมาก และมีอีกตัวหนึ่งที่สะกิดตัวที่ตายแล้ว แล้วสงเสียงร้องเป็นครั้งๆอย่าไม่มีเรี่ยวแรง ข้าพเจ้ากับน้องในหออีกคนจึงช่วยกันพาตัวที่รอดออกมาและบอกเจ้าของหอให้จัดการกับตัวที่ตาย ข้าพเจ้ากะว่าจะเลี้ยงมันไว้ เพราะแม่มันคงเป็นอะไรซักอย่างจึงหายไป แต่เจ้าของหอไม่ให้เลี้ยงแล้วยังบอกว่ามันคงไม่รอด ห้ามเลี้ยงให้ทิ้งไว้นี้แหละ พอดีเพื่อนข้าพเจ้ามาที่หอเราปรึกษากันว่าจะเอาไปเลี้ยงบ้านเพื่อนก่อนพอมันโตฉันค่อยเอากลับบ้านฉันที่นครศรีธรรมราช สรุปว่าวันนั้นทั้งวัน ข้าพเจ้ากับเพื่อนวุ่นอยู่แต่กับเรื่องน้องแมวเร่ร่อนตัวนั้น ทั้งหาซื้อนม เช็ดราที่ติดอยู่บนตัวน้องแมว ทั้งเช็ดขี้ตาที่ปิดตามิดจนข้าพเจ้าคิดว่ามันตาบอด แต่สุดท้ายมันก็มองเห็นแล้วก็ได้กินนม หลับไป แต่ถึงยังไงมันก็ต้องการแม่ เพราะมันร้องงอแงทั้งวัน ข้าพเจ้ากับเพื่อนเลี้ยงมันไว้  และตั้งชื่อมันว่า "อย่าหนี"  ที่แปลตามตัวนั่นแหละ เลี้ยงได้ประมาณ 3 วัน มันก็ไม่ค่อยกินนมสงสัยจะต้องการนมแม่จึงไปปรึกษาป้าที่ร้านค้าใกล้หอที่เลี้ยงแมวเหมือนกัน ป้าบอกว่า บ้านป้ามีแมวแมวเพิ่งเกิดลูกเหมือนกัน ลองเอา "อย่าหนี" มาให้กินนมดูสิ เผื่อมันจะอยู่ได้ ป้าจะได้เลี้ยงไว้ให้ก่อนเพราะพวกเราคงไม่มีเวลาดูแล ข้าพเจ้ากับเพื่อนเลยตกลงว่าอย่างที่ป้าเสนอ ข้าพเจ้าบอกว่าให้มันทิ้งนมแม่แล้วจะพากลับมาเลี้ยง นับตั้งแต่วันนั้นข้าพเจ้ากับเพื่อนก็หมั่นไปดูมันที่ร้านป้า แต่ป้า เปลี่ยนชื่อมันเป็น "แมวน้ำ" มันจึงชื่อแมวน้ำมาทุกวันนี้
ข้าพเจ้ากับ เจ้า แมวน้ำ
         ซึ่งพอถึงเวลามันกินข้าวเป็นแล้ว ข้าพเจ้ากับเพื่อนจะไปรับมันกลับมาเลี้ยงแต่ป้าบอกว่ามันติดแม่ที่เลี้ยงมัน โดยที่คิดว่าเป็นแม่มันเองแล้วมันก็มีเพื่อนเล่น อย่าพามันไปเลยให้มันอยู่กับป้านี่แหละข้าพเจ้ากับเพื่อนจึงตัดสินใจอย่างที่ป้าบอกจนทุกวันนี้พวกเราก็ยังแวะไปดูมันเสมอๆเมื่อมีเวลา มันโตขึ้นทุกวันเป็นแมวตัวสีดำเทาๆ เป็นเพศผู้ น่ารักมาก
         จากประสบการณ์ที่ข้าพเจ้าได้สัมผัสจะเห็นได้ว่าเพียงแค่แมวเร่ร่อนตัวเดียวยังมีปัญหาตั้งหลายอย่างแล้วในมหาวิทยาลัยของเรามีหมาแมวเร่ร่อนตั้งหลายสิบตัว กระจัดกระจายอยู่ทุกๆทีของมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะขออาหารอยู่ที่โต๊ะกินข้าวในร้านค้าของตึกมนุษย์ ในสวนนันทนาการ ในบริเวณตึกข้างสนามกีฬาเชาว์มณีวงศ์ ซึ่งล้วนแต่เป็นหมาแมวจรจัดเร่ร่อนทั้งนั้น โดยที่ข้าพเจ้าเห็นว่าทางแก้ไขของปัญหานี้ก็พอจะมีที่นักศึกษาอย่างเราๆพอที่จะทำได้นั้นคือ
         -ถ้าคิดจะเลี้ยงหมาแมวของตนเองต้องมั่นใจว่าดูแลมันได้ไม่คิดว่ามันเป็นภาระและไม่ใช่รักเฉพาะมันตอนเล็กๆและจะต้องไม่ทอดทิ้งมันแม้เรียนจบแล้วก็ต้องพามันกลับไปด้วยถ้ายังไม่พร้อมก็ไม่ควรซื้อหรือนำมันมาเลี้ยง
         -ในส่วนของมหาวิทยาลัยก็ควรจะจัดหารือกับชาวบ้านละแวกใกล้เรื่องการนำหมาแมวมาทิ้งว่าไม่ควรกระทำและควรหาแนะนำทางแก้ไขที่ดีกว่าการทอดทิ้งพวกมัน
         -นักศึกษาหรือบุคลากรบางกลุ่มที่พอจะมีกำลังให้ทามมันได้ก็ควรจะเสียสละเงินเล็กน้อยซื้ออาหารของกินแบ่งหมาแมวจรจัดบ้างหากพบเห็นพวกมันหรือหากบางคนมีกำลังพอที่จะเลี้ยงมันได้ก็อาจจะนำมันบางตัวไปเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อลดจำนวนของหมาแมวเร่ร่อนลง
         -หรืออาจจะลองหาที่อยู่ให้พวกมันใหม่ หาเจ้าของใหม่ที่พร้อมจะรับภาระมันได้เหมือนที่ข้าพเจ้ากับเพื่อนได้หาที่อยู่ใหม่ให้กับน้องแมวน้อยตัวนั้น
          หากมีบุคลากรบางกลุ่มในมหาวิทยาลัยบูรพาลองมองปัญหา สัตว์จรจัดเร่ร่อนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้อย่างจริงจังสักครั้ง ข้าพเจ้าเชื่อว่าปัญหานี้ที่ข้าพเจ้าสัมผัสมาตั้งแต่ ปี1 ถึงปี 4 อาจจะเบาบางลงบ้างแม้จะหมดไปก็ตาม ดังนั้นข้าพเจ้าเห็นว่าหากเราไม่หนีปัญหาแต่เต็มใจจะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังแล้วนั้นข้าพเจ้าเชื่อว่ามันเป็นปัญหาที่แก้ได้หากมีการร่วมมือกันเพราะทุกปัญหาย่อมมีทางแก้อยู่แล้วดั่งนั้นถ้าพบเจอปัญหาใดๆก็ตามต้อง "อย่าหนี" ปัญหา ค่อยๆหาทางแก้แล้วสุดท้ายก็จะพบทางออกเหมือนกับเจ้าน้องแมว "อย่าหนี" ที่เคยเป็นแมวเร่ร่อน แต่ตอนนี้กลับมีผู้อุปถัมภ์ใจดี มอบที่อยู่ อาหาร ความอบอุ่นให้ จนในที่สุดจากแมวเร่ร่อนก็กลายเป็นแมวน่ารักมีเจ้าของเลี้ยงดู ซึ่งข้าพเจ้าเองก็ภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยบูรพาที่ครั้งหนึ่งได้ลงมือแก้ไขปัญหาสัตว์เร่ร่อนที่เป็นปัญหาสังคมที่ข้าพเจ้าได้สัมผัสถึงจะเป็นปัญหาแมวเร่ร่อนเพียงตัวเดียวก็ตามแต่ถ้าหากทุกคนเลิกหนีปัญหานี้แล้วร่วมมือกันคนละเล็กละน้อย ปัญหาสัตว์เร่ร่อนที่เราเห็นว่าเป็นปัญหาโลกแตกก็จะแก้ไขได้ในวิถีทางที่ถูกต้อง

น้องหมาเยอะมากที่ข้างตึกวิทย์กีฬา




คอยอาหารที่ตึกมนุษย์ศาสตร์

         นางสาว ดารณี เรืองจันทร์ 51041040 สาขาการสอนสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม